fbpx
BlogNewsTREND

โลกไอดอล: เครื่องดนตรี การละเล่น และเพลงพื้นเมืองของเกาหลีที่ซ่อนอยู่ใน K-POP

เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศเกาหลีกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศไทยยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสที่เกิดจากวงการบันเทิงเกาหลี อาหารเกาหลี เสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมอย่าง การแสดงพื้นเมือง เครื่องดนตรีพื้นเมือง และท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์จากเพลงพื้นเมืองของเกาหลีก็เริ่มได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากขึ้นเช่นกัน

บทเพลงและเครื่องดนตรีพื้นเมืองเกาหลีปรากฏในวงการ K-Pop มานานตั้งแต่ในช่วงยุค 1999 ซึ่งถือว่าเป็นยุคบุกเบิกของวงการ K-Pop อย่าง นักร้องสาว อีจองฮยอน ที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘Techno Queen of Korea’ ได้เริ่มปลุกกระแสด้วยการผสมผสานระหว่างแนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์และดนตรีพื้นเมือง และยังเป็นเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ได้เผยแพร่กระแสฮันรยูไปสู่ประเทศจีนอีกด้วย

อีจองฮยอน

ความฮาแบบ BABYMONSTER! วัดสกิลวาไรตี้กับ Knowing Brothes ดูได้ที่ Viu ▶ คลิก

ซึ่งดนตรีพื้นเมืองของเกาหลีนับเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ รวมไปถึงในปัจจุบันเหล่าศิลปินเคป็อปมากมายได้นำเครื่องดนตรีพื้นเมืองต่างๆ มาผสมผสานเข้ากับบทเพลงสมัยใหม่ โดยวันนี้เราจะมาตามดูตัวอย่างผลงานของศิลปินเคป็อปที่นำท่วงทำนองของเครื่องดนตรีพื้นเมืองมาใช้ในบทเพลง

BTS

เพลง ‘IDOL’ ของ BTS ได้รับความสนใจจนกลายเป็นกระแสโด่งดังทั่วโลกและถูกพูดถึงอย่างมาก ความพิเศษที่โดดเด่นของเพลงนี้คือ แนวเพลงฮิปฮอปที่ผสมผสานกับเสียงดนตรีพื้นเมืองเกาหลีที่เรียกว่า ‘กูกัก’ (Gugak) ได้อย่างลงตัว โดยพวกเขาได้เผยแพร่วัฒนธรรมของเกาหลีได้อย่างครอบคลุม โดย BTS ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นฑูตพิเศษประธานาธิบดีเพื่อคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นผู้เผยแพร่กระแสเกาหลีที่ได้รับความรักจากแฟนคลับทั่วโลก นอกจากนี้ BTS ได้ส่งเสริมเครื่องดนตรีพื้นเมืองและการละเล่นพื้นเมืองในวิดีโอ Performance และการแสดงบนเวทีต่างๆอีกด้วย

การแสดงดนตรีการขับร้องพื้นเมือง กูกัก (국악)

ONEUS

ONEUS ได้เผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีอย่างต่อเนื่องในเพลงไตเติ้ล ‘LUNA’ จากอัลบั้ม Blood Moon หลังจากได้ปล่อยเพลง Lit ที่นำเสนอวัฒนธรรมเกาหลีเช่นเดียวกัน สำหรับเพลง LUNA ได้ถูกถ่ายทอดความเป็นศิลปะด้วยดนตรีพื้นเมืองประเภทเครื่องดีดอย่าง คายากึม (가야금) ที่ถูกปรับให้เข้ากับคอนเซ็ปต์อัลบัมที่เล่าถึงเรื่องราวลึกลับเกี่ยวกับตำนานช็อกวอลที่ได้นำมาเป็นคอนเซปต์ในคอนเสิร์ตของพวกเขาอีกด้วย โดย ONEUS สามารถนำเสนอวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นเมืองออกมาได้อย่างเป็นเอกลักษณ์และน่าจดจำ นอกจากนี้ ONEUS ก็ได้นำเพลง ‘LUNA’ ขึ้นแสดงในงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกาหลีใต้-รัสเซียในวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมาทำให้ได้รับการชื่นชมอย่างล้นหลาม

การแสดงการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมือง คายากึม (가야금)

https://youtu.be/32SEHdg6zyY

Stray Kids

Stray Kids เป็นศิลปินอีกวงที่ได้นำเสียงของเครื่องดนตรีพื้นเมืองของเกาหลี มาแต่งแต้มเพิ่มความทันสมัยให้เพลงโดยการนำมาผสมผสานกับแนวสไตล์ฮิปฮอปของพวกเขาอย่าง ‘소리꾼 (Thunderos)’ ซึ่งสามารถแสดงความเป็นเอกลักษณ์ในแบบของ Stray Kids ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในมิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าว เรายังจะได้เห็นวัฒนธรรมด้านดนตรีและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของเกาหลีซึ่งจะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภท ฆ้อง กลอง ต่างๆจากการแสดงพื้นเมืองอย่าง พุงมุลโนรี (풍물놀이) และเมื่อไม่นานมานี้ Stray Kids ก็ได้นำเพลง 소리꾼 (Thunderos) ไปแสดงเปิด Republic Korea’s National Day ในฐานะตัวแทนประเทศเกาหลีในงาน Expo 2020 in Dubai ที่ประเทศดูไบ ต่อหน้าประธานาธิบดีเกาหลีใต้ รวมไปถึงแขกวีไอพีอีกหลายๆคน ซึ่งนับว่าเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมเกาหลีออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

การแสดงการละเล่นดนตรีพื้นเมือง พุงมุลโนรี (풍물놀이)

SUGA – BTS

ผลงานมิกซ์เทปจาก Suga BTS หรือ August D ที่มาในแนวเพลงฮิปฮอปที่ผสมผสานดนตรีพื้นเมืองได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมาในคอนเซปต์ย้อนยุคก็เข้ากันกับบทเพลงได้ดีเช่นเดียวกัน โดยชื่อเพลง Daechwita (대취타) สามารถสร้างความสงสัยให้แฟนๆ ได้เป็นอย่างดีว่ามีความหมายว่าอะไร ซึ่ง Daechwita เป็นดนตรีที่ใช้ในการเล่นตอนเดินขบวน ต้อนรับกษัตริย์ แขกต่างๆ รวมถึงใช้เล่นตอนที่กษัตริย์ไปออกรบอีกด้วย ซึ่งในนี้จะประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเป่า เครื่องกระทบต่างๆ  ซึ่ง ชูก้า เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้นำทำนองบางส่วนของเพลง Daechwita มาใช้ และได้เขียนทำนองเมโลดี้ขึ้นมาเองอีกด้วย นับเป็นเพลงที่ผสาน 2 สมัยได้อย่างลงตัวอีกหนึ่งเพลง

การแสดงดนตรีพื้นเมือง Daechwita (대취타)

https://www.youtube.com/watch?v=B_LT6framEw

VIXX

VIXX ได้เปิดตัวในอัลบั้มชุดที่ 4 ‘Shangri-La’ พร้อมกับคอนเซปต์ดนตรีที่ถูกผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างเสียงดนตรีพื้นเมืองและท่วงทำนองแบบสากล รวมถึงการใช้พัดเพื่อเพิ่มลูกเล่นในการเต้นให้น่าสนใจและเนื้อเพลงที่งดงามเหมือนบทกวีเกาหลี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความงามแบบตะวันออกทำให้ VIXX ได้รับคำชมจากสื่อทั้งในและต่างประเทศอย่าง Billboard และ Fuse TV รายการเพลงของอเมริกาก็ได้ยกให้ ‘Shangri-La’ เป็นมิวสิควิดีโอยอดเยี่ยมแห่งปีด้วยการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันออก 

นอกจากนี้ยังมีศิลปิน K-POP คนอื่นๆ อีกมากมายที่ร่วมกันส่งผ่านวัฒนธรรมเกาหลีผ่านผลงานเพลง และมิวสิกวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็น

BLACKPINK

https://www.youtube.com/watch?v=u7rKGj13pAs

Crazy Over You อีกหนึ่งเพลงจากอัลบั้ม The Album ที่มีการใช้เสียงของเครื่องดีดอย่าง คายากึม (가야금) ที่ปรากฏออกมาในช่วงอินโทรของเพลง ซึ่งในเพลงนี้จะสัมผัสได้ถึงจังหวะที่มีสีสัน ประกอบกับเสียงบีทหนักๆ ที่นำผสมกับท่วงทำนองของเครื่องดนตรีพื้นเมืองแล้วก็ให้บรรยากาศอีกแบบเมื่อได้ฟัง

DREAMCATCHER 

เครื่องดนตรี Piri (피리) ในชื่อเดียวกับเพลง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า และเป็นขลุ่ยที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่ให้เสียงที่ใสและไพเราะกว่าเนื่องจากมีลักษณะบางกว่าขลุ่ยเกาหลีประเภทอื่นๆ โดยนิยมเล่น Piri ในราชสำนักและการแสดงดนตรีพื้นเมือง ซึ่งในเพลงนี้ใช้ Piri เพื่อสร้างเสียงที่ก้องกังวานในช่วงอินโทรของท่อนคอรัส ซึ่งเข้ากับคอนเซปต์ของ Dreamcatcher ได้เป็นอย่างดี

การแสดงเครื่องดนตรีพื้นเมือง Piri (피리)

G-DRAGON

Niliria(늴리리야) เป็นเพลงจากในอัลบั้ม Coup d’Etat ของ G-Dragon ซึ่งถูกเปิดตัวในปี 2013  และในเพลงมีการผสมผสานระหว่างตัวอย่างเพลงพื้นเมืองเกาหลีดั้งเดิมที่มีชื่อเดียวกันเข้ากับกลิ่นอายของฮิปฮอป เพลงพื้นเมือง Niliria เป็นเพลงลูกทุ่งใหม่ที่มี ความโศกเศร้าและความโกรธของผู้คนในสมัยอาณานิคมของญี่ปุ่น โดยเพลงพื้นบ้านนี้ถูกนำมาใส่ในช่วงอินโทรและช่วงบริดจ์ของเพลง และ G-Dragon ได้ตัดสินใจร่วมงานกับศิลปินชาวอเมริกันในตำนานอย่าง Missy Elliot เพื่อเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของฮิปฮอปและเพลงพื้นเมืองของเกาหลี

การแสดงการขับร้องเพลงพื้นเมือง Niliria(늴리리야)

(G)I-DLE

มิวสิควิดีโอเพลง Hwaa () ได้แรงบันดาลใจมากจากวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออก ซึ่งจะเห็นได้จากร่มกระดาษและผ้าคลุมหน้ายุคฮั่นของจีน และฉากที่โอบล้อมไปด้วยลวดลายของ คลื่นทะเลสีคราม(เซย์ไกฮะ) สัญลักษณ์ในสมัยญี่ปุ่นโบราณ รวมไปถึงการผสมผสานด้วยเสียงดนตรีจาก ทันโซ (단소) เครื่องดนตรีเกาหลีประเภทเครื่องเป่าที่ทำจากไม้ไผ่ และ คายากึม (가야금) เครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทดีดของเกาหลี เพื่อเพิ่มลูกเล่นทางดนตรีให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้น

การแสดงการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมือง ทันโซ (단소)

IU

IU ได้โชว์เสียงร้องที่หวานไพเราะในบทเพลง อารีรัง (아리랑) ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในคอนเสิร์ต Arrirang Korea’s Quintessential Flavor and Style Concert โดยเพลง อารีรัง (아리랑) เป็นเพลงพื้นบ้านอันโด่งดังของเกาหลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางผ่านช่องแคบแนวเขา การจากลาจากคนรัก หรือสงคราม และมีรูปแบบเพลงมากกว่า 1,000 แบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อร้อง สร้อย ทำนองโดยรวม และยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีอีกด้วย นอกจากนี้เพลง อารีรัง (아리랑)ยังเป็นเพลงที่เป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เกาหลีในสมัยสงครามเกาหลีอีกด้วย ซึ่งหนุ่มๆ BTS ก็เคยร้องเพลง อารีรัง (아리랑) ในการแสดงงาน KCON 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน

Mino

Fiancé เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีฮิปฮอปและดนตรีพื้นเมืองเกาหลีได้อย่างลงตัว โดย Mino ได้เลือกตัวอย่างเพลงทร็อตปี 1969 อย่าง Soyangang Maiden (소양강 처녀) มาใส่ในช่วงอินโทรของเพลง นอกจากจะมีการดึงเครื่องดนตรีเกาหลีแบบดั้งเดิมมาใช้แล้ว Mino ยังใช้การเล่นคำจากเสียงของเด็กขณะเล่นซ่อนแอบมาใช้ในการแต่งเนื้อเพลง รวมถึงชื่อเพลงภาษาเกาหลี ‘Anaknae’ เป็นคำโบราณสำหรับผู้หญิง ซึ่งหมายถึงภรรยาของผู้ชายคนอื่น 

MONSTA X

เพลง Follow ได้รวมเสียงดนตรีพื้นเมืองไว้ในทำนองและมิวสิควิดีโอ และสิ่งที่ทำให้เพลง “Follow” พิเศษไม่เหมือนใครและน่าติดตามมากขึ้น คือ เสียงแตรที่มาจาก แทพยองโซ (태평소) เครื่องดนตรีประเภทเป่าแบบพื้นเมืองของประเทศเกาหลีซึ่งมีลักษณะคล้ายแตรที่ถูกนำมาประกอบดนตรีในช่วงอินโทรของเพลง

การแสดงการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมือง แทพยองโซ (태평소)

RAVI

การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ชุดพิเศษที่เป็นการผสมผสานระหว่างการแร็พฮิปฮอปสไตล์ KPOP และเสียงพันโซรี (판소리) ซึ่งเป็นศิลปะการร้องเพลงพื้นเมืองของเกาหลี เป็นดนตรีและละครที่สลับกันด้วยการสนทนา การร้องเพลง และการแสดงท่าทาง และมีการตีกลองประกอบ นอกจากนี้ยังมีเสียงดนตรีประกอบจาก แทพยองโซ(태평소) เครื่องดนตรีประเภทเป่าแบบพื้นเมืองของประเทศเกาหลีซึ่งมีลักษณะคล้ายแตร

การแสดงการขับร้องเพลงพื้นเมือง พันโซรี (판소리)

SONG MINHO, ANDUP, JA MEZZ (SMTM4)

เพลง Turtle Ship แต่งขึ้นโดย Zico (Block B) ในรายการ Show Me the Money 4 โดยมีการผสมผสานของดนตรีพื้นเมืองเกาหลี และได้ตั้งชื่อเพลงตามสัญลักษณ์ที่สำคัญของวัฒนธรรมเกาหลี คือ เรือเต่า (Turtle Ship) หรือที่เรียกว่า คอบุกซอน ( 거북선) เป็นเรือรบประเภทหนึ่งที่พลเรือเอก อีซุนชิน ผู้มีเกียรติแห่งเกาหลีในศตวรรษที่ 16 ใช้โจมตีทางเรือเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น

TXT (TOMORROW BY TOGETHER) 

การแสดงชุดพิเศษร่วมกันของวงบอยกรุป TXTและ Seoul Metropolitan Traditional Orchestra ในเพลง Run Away โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองหลากหลายประเภท โดยประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทดีดอย่าง คายากึม (가야금) ,ซอแฮกึม (해금) และเสียงดนตรีประเภทเครื่องตีจาก กลองพุก (), กลองจังกู (장구) นอกจากนี้ยังมีเสียงจากดนตรีเครื่องเป่า โซกึม (소금) และ เครื่องเป่าแทกึม (대금) ประกอบการบรรเลงดนตรีร่วมกับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างลงตัวและเข้ากับการแสดงของ TXT ได้อย่างยอดเยี่ยม

YUJU

PLAY (놀이) เพลงไตเติลจากอัลบั้มโซโล่ชุดแรกของ ยูจู ที่มาในแนวเพลงป๊อปในจังหวะมีเดียมที่ท่วงทำนองเต็มไปด้วยอารมณ์ ถึงแม้จะเป็นเพลงที่มาในแนวเพลงป็อปแต่ก็มีเสียงของเครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทดีดอย่าง คายากึม (가야금) ที่ผสานเข้ากับแนวเพลงและคอนเซปต์ชื่อเพลงอย่าง PLAY ที่อาจจะให้บรรยากาศที่ สนุกสนาน แต่ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปในเรื่องของความสัมพันธ์ได้อีกด้วย

อ่านต่อ

JuthamasW

Trainee ที่มีความสนใจเกี่ยวกับวงการบันเทิงเกาหลี ชื่นชอบศิลปินและซีรีส์เกาหลีทำให้เริ่มติดตามข่าวและมีความสนใจอยากลองทำคอนเทนท์ในด้านนี้

บทความเกี่ยวข้อง

Back to top button