K-Pop กลายเป็นกระแสที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโกลบอล และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในวงการเพลงที่มีโครงสร้างแข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตลาด การพัฒนาศิลปิน ไปจนถึงการผลิตผลงานเพลงที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ จนทำให้ศิลปินจากวงการ K-Pop ได้ขึ้นไปอยู่บนเวทีงานเทศกาลเพลง งานประกาศรางวัลระดับโลกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของวงการนี้ก็ได้เกิดภาพสะท้อนด้านลบที่น่ากังวลท่ามกลางภาพด้านบวกอันงดงาม
การเติบโตของกระแส K-Pop
K-pop ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเกาหลีและทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากการพัฒนาทางดนตรีกว่า 3 ทศวรรษด้วยรากฐานของวงการเพลงเกาหลีในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของดนตรีหลากสไตล์ไม่ว่าจะเป็น ป๊อป, อิเลคโทรนิค, ฮิปฮอป, อาร์แอนด์บี, ร๊อค, แจ๊ส ไปจนถึงแนวเพลงพื้นเมือง และเพลงคลาสสิค ก่อนที่จะเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษที่ 2000 โดยมีวงและศิลปิน K-Pop ที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับในต่างประเทศ เช่น TVXQ, Rain, Shinhwa, Super Junior, Big Bang และ Girls’ Generation
การพุ่งทะยานของ K-pop ได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของวัฒนธรรมและความบันเทิงของเกาหลีในทั่วโลก การเข้าถึงที่เพิ่มขึ้นของเพลง K-pop ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และมาตรฐานที่มีคุณภาพสูง เป็นมืออาชีพของศิลปิน K-pop ทั้งในแง่ของดนตรีและการแสดง ความสำเร็จของ K-pop ในระดับโลกยังได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของกระแสเกาหลีหรือ “ฮันรยู” ที่แสดงถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกของวัฒนธรรมเกาหลี รวมถึงเรื่องของดนตรี โทรทัศน์ และภาพยนตร์
ความฮาแบบ BABYMONSTER! วัดสกิลวาไรตี้กับ Knowing Brothes ดูได้ที่ Viu ▶ คลิก
ทุกวันนี้ K-pop ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ด้วยคอนเสิร์ตและเทศกาล K-pop ที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมาก ตลอดจนวงดนตรีและศิลปิน K-pop ที่ได้รับการติดตามจากแฟนๆ ที่คอยสนับสนุนและให้ความรักจากทั่วทุกมุมโลก
ด้านลบของ K-POP
การเติบโตของกระแส K-pop ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อวงการเพลงเกาหลี และต่อศิลปิน K-pop รวมถึงแฟน ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอื่น ๆ มักต้องมีผลกระทบในทางลบเกิดขึ้นเช่นกัน หนึ่งในประเด็นที่เกิดความน่ากังวลจากการเติบโตของ K-pop ก็คือเรื่องของความกดดันและความคาดหวังสูงที่มีต่อศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของภาพลักษณ์และพฤติกรรมต่างๆ ของพวกเขา
ศิลปิน K-pop หลายคนจำเป็นต้องดูแลตัวเองตามมาตรฐานต่างๆ หรือบิวตี้แสตนดาร์ดที่ถูกวางเอาไว้ว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของ ศิลปิน K-Pop และพวกเขามักถูกเปรียบเทียบและวิจารณ์ทั้งจากแฟน K-pop เองและสื่อต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวลในระดับสูง และยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาความผิดปกติในการใช้ชีวิตพื้นฐานและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ
นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรง และแรงกดดันจากการวางเป้าหมายเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรม K-pop อาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมเพื่อผลประโยชน์สูงสุด อย่างเช่น เรื่องของชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป และสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จนถูกเรียกว่า “สัญญาทาส” ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเคป๊อป ซึ่งสามารถผูกมัดศิลปินไว้กับบริษัทต้นสังกัดเป็นระยะเวลานาน แม้จะเกิดปัญหาในการจัดการ หรือเกิดข้อพิพาทต่างๆ ในช่วงระยะเวลาของสัญญาก็ตาม
จากภาพรวมแล้ว ท่ามกลางกระแสความนิยม และการเป็นที่ยอมรับของ K-pop ในระดับโกลบอลนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงบวกมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่ศิลปินและคนทำงานที่เกี่ยวข้องในวงการนี้ต้องเผชิญหน้าและท้าทาย รวมไปถึงปัญหาที่ยากจะหลีกเลี่ยงจากสภาวะของการแข่งขันที่มากขึ้นเรื่อยๆ