จาก Lisa ถึง Carmen: การเปลี่ยนแปลงของ K-Pop ด้วยพลังแฟนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

K-Pop กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่แนวเพลงหรือสไตล์การโปรโมต แต่ยังรวมถึง องค์ประกอบของวงไอดอลเอง จากที่เคยเน้นไปที่เด็กฝึกหัดจากเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ปัจจุบัน มีไอดอลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลลัพธ์ของทั้ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรม K-Pop และอาจเป็นตัวแปรที่ทำให้กระแส K-Pop สามารถขยายตัวได้ต่อไป
ไอดอลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเพราะอะไร ?
1. พลังของฐานแฟนคลับและโซเชียลมีเดีย
Southeast Asia ไม่เพียงเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภค K-Pop ที่ใหญ่ที่สุด แต่ยังเป็นศูนย์กลางของเทรนด์ดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้โดยตรง จากข้อมูลของ TikTok และ Kantar Research พบว่าแฟนคลับจากอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามใช้เวลากับคอนเทนต์ K-Pop มากกว่าผู้บริโภคทั่วไปถึง 2.3 เท่า
🎙GYUBIN ปลื้มเมืองไทยขนาดไหน? ถึงกลับมาถ่าย MV เพลงใหม่ LIKE U 100 ที่กรุงเทพ
▶ คลิกดูสัมภาษณ์พิเศษยิ่งไปกว่านั้น การทำให้เพลง K-Pop กลายเป็นไวรัลบน TikTok มักเริ่มต้นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น วงอินดี้เกาหลี wave to earth ที่แต่แรกกระแสในเกาหลีเองก็ค่อนข้างปกติเหมือนวงอินดี้ทั่วไป แต่เมื่่อเพลงของพวกเขาเป็นไวรัลในกลุ่มผู้ฟังชาวไทย ก็ส่งผลให้วงนี้กลายเป็นที่รู้จักระดับโลกและได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก โดยปัจจุบันมียอดผู้ฟังต่อเดือนบน Spotify มากกว่าศิลปิน K-Pop ชื่อดังอย่าง IU เสียอีก นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ภูมิภาคนี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้บริโภค แต่ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนแนวโน้มทางดนตรีระดับโลก
2. กลยุทธ์ของค่ายเพลงที่เปลี่ยนไป
ในอดีต ค่ายเพลง K-Pop มุ่งเน้นไปที่การขยายตลาดในจีนและญี่ปุ่น โดยมีการเพิ่มสมาชิกจากสองประเทศนี้ในวงหลัก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ซับซ้อนกับจีน และตลาดเพลงญี่ปุ่นที่เริ่มอิ่มตัว ทำให้ค่ายเพลงหันไปให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงกว่า
ประเทศไทย เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ การที่ ลิซ่า (Lisa – BLACKPINK) ประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่เพียงส่งเสริมให้ไอดอลชาวไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยจำนวนมากสมัครเข้าออดิชัน K-Pop ข้อมูลจาก YG Entertainment ระบุว่า หลังจากความสำเร็จของลิซ่า การสมัครออดิชันจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 300%

นอกจากนี้ ค่ายใหญ่ยังเดินหน้าผลักดันเด็กฝึกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงกับแฟนๆ ในตลาดสำคัญนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ YG Entertainment ที่หลังจากประสบความสำเร็จกับลิซ่า ก็ได้เดบิวต์ไอดอลชาวไทยเพิ่มอีก 2 คนคือ Pharita และ Chiquita ในวงเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ Baby Monster ในปี 2023

ขณะเดียวกันค่ายอื่นก็มีการเดบิวต์ไอดอลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน เช่น Minnie สมาชิกชาวไทยของวง (G)I-DLE สังกัด Cube Entertainment, Ten สมาชิกชาวไทยของวง NCT สังกัด SM Entertainment (ถือเป็นศิลปินไทยคนแรกที่เดบิวต์กับค่ายนี้) และ Natty ศิลปินหญิงชาวไทยในวง Kiss of Life สังกัด S2 Entertainment เป็นต้น

ล่าสุดในปี 2025 ทาง SM Entertainment ได้เดบิวต์ Carmen สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Hearts2Hearts ซึ่งมีสัญชาติอินโดนีเซีย นับเป็นเด็กฝึกจากอินโดนีเซียคนแรกที่ได้เปิดตัวกับค่ายระดับ Big 4 ของเกาหลี (SM, JYP, YG และ Hybe) ซึ่งการมีสมาชิกจากอินโดนีเซียย่อมช่วยดึงดูดความสนใจจากฐานแฟนเพลงจำนวนมหาศาลในประเทศอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 270 ล้านคน (ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก) และประมาณหนึ่งในสามของประชากรอยู่ในช่วงอายุ 10-29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีความต้องการบริโภคสื่อบันเทิงสูง
หนึ่งในอีกความเคลื่อนไหวสำคัญคือ SM Entertainment ซึ่งได้ประกาศเปิดตัวสาขา สถาบันฝึกอบรมไอดอล K-Pop ในสิงคโปร์ ในปี 2025 ภายใต้ชื่อโครงการ SM Universe โดยจะจัดหลักสูตรเข้มข้น 21 สัปดาห์สำหรับเยาวชนผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน K-Pop ครอบคลุมทักษะการร้อง การเต้น การผลิตเพลง และการแสดงบนเวที โดยมีค่าเรียนราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังมีทุนการศึกษาให้สำหรับผู้ที่มีศักยภาพสูงในการเป็นศิลปิน
3. เศรษฐกิจที่เติบโตและการใช้จ่ายของแฟนคลับ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 630 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีเฉลี่ย 4-5% ต่อปี ชนชั้นกลางที่ขยายตัวในประเทศอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ทำให้การใช้จ่ายกับวัฒนธรรม K-Pop เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
รายงานจาก Luminate’s 2024 Year-End Music ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่นำเข้าเพลงเกาหลี (K-Pop) สูงเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงญี่ปุ่นและไต้หวันเท่านั้น
เมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาค เช่น จาการ์ตา กรุงเทพฯ มะนิลา ฮานอย และกัวลาลัมเปอร์ ล้วนเป็นจุดหมายปลายทางหลักที่วง K-Pop ชั้นนำจะต้องเพิ่มไว้ในตารางเวิลด์ทัวร์อยู่เสมอ เนื่องจากสามารถจัดคอนเสิร์ตใหญ่และขายบัตรได้หมดเกลี้ยง บางประเทศมีการจัด เทศกาลดนตรี K-Pop และงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี และแบรนด์สินค้าต่างๆ ก็ใช้ไอดอล K-Pop เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้าในภูมิภาคนี้มากขึ้น

ซึ่งตัวเลขการเติบโตและมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้บริษัทบันเทิงเกาหลีจมองว่าการมีไอดอลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยดึงดูดความสนใจจากฐานแฟนคลับท้องถิ่น ทำให้พวกเขาสามารถเพิ่มรายได้จากภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น
วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป: จาก “Korean-Centric” สู่ “Global K-Pop”
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไอดอลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น คือ การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม K-Pop เอง จากที่เคยเน้นไปที่ “Korean-Centric” หรือการรักษาความเป็นเอกลักษณ์เกาหลีให้ชัดเจนที่สุด สู่ “Global K-Pop” ซึ่งเป็นแนวทางที่เปิดกว้างขึ้นเพื่อรองรับฐานแฟนระดับโลก คล้ายกับช่วงที่ K-Pop เคยขยายตัวเข้าสู่จีนและญี่ปุ่นในยุค 2010s
ในอดีต ช่วงปลายยุค 2000s – ต้น 2010s ไอดอล K-Pop ที่เป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นตลาดเพลงที่ใหญ่ และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ค่ายเพลงอย่าง SM Entertainment, JYP Entertainment และ YG Entertainment ต่างพยายามสร้างวงที่สามารถเจาะตลาดสองประเทศนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ซับซ้อน เช่น กรณี THAAD ระหว่างจีน-เกาหลีใต้ และ ตลาด J-Pop ที่อิ่มตัว ทำให้ K-Pop ต้องมองหาฐานแฟนใหม่ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็น ตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ปัจจุบัน แนวโน้มไอดอลต่างชาติเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยค่ายเพลงให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพราะ:
- พลังของแฟนคลับในภูมิภาคนี้สูงขึ้น ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มียอดสตรีมเพลง K-Pop สูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
- ตลาดจีนมีข้อจำกัดทางการเมือง และไอดอลจีนที่เดบิวต์ใน K-Pop หลายคนออกจากวงเพื่อทำงานในประเทศตัวเอง
- ญี่ปุ่นเน้นผลิตไอดอลภายในประเทศเองมากขึ้น จากฐานความรู้เดิมใน 48G, Johnny’s รวมถึงการเกิดของวง J-Pop รูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้ K-Pop ต้องปรับกลยุทธ์ตาม
การเปิดรับไอดอลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของตลาด แต่เป็น การสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม K-Pop เอง ที่ต้องการ ให้ศิลปินมีความหลากหลายและสื่อสารกับแฟนๆ ทั่วโลกได้ดีขึ้น
- ไอดอลที่มีเชื้อชาติหลากหลาย เช่น Hanni (NewJeans, NJZ) เชื้อสายเวียดนาม, Minnie ((G)I-DLE) จากไทย, Carmen (Hearts2Hearts) จากอินโดนีเซีย ได้พิสูจน์ว่า แฟนคลับไม่ได้ยึดติดกับเชื้อชาติของศิลปินอีกต่อไป แต่สนใจที่ความสามารถและเสน่ห์ของพวกเขา
- การใช้ภาษาท้องถิ่นมากขึ้น เช่น สมาชิกวง K-Pop พูดภาษาไทย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับแฟนๆ ในประเทศเหล่านั้น
- การเปิดออดิชันระดับโลก เช่น SM Entertainment ที่เปิด “Global Audition” และ YG Entertainment ที่มุ่งหาศิลปินจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย
K-Pop กำลังเปลี่ยนจากการเป็น “Korean Pop” ไปสู่ “Global Pop” อย่างแท้จริง โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ K-Pop ยังคงเติบโตในระดับโลกได้ในทศวรรษหน้า
K-Pop กำลังมุ่งหน้าไปทางไหน?
จาก Lisa (BLACKPINK) ไอดอลสาวไทยที่กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก สู่ Carmen (Hearts2Hearts) ที่เป็นไอดอลอินโดนีเซียคนแรกในค่าย SM Entertainment แนวโน้มไอดอล K-Pop จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรม K-Pop ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เกาหลี แต่เปิดกว้างให้กับศิลปินจากหลากหลายเชื้อชาติ
ในอนาคต เราจะได้เห็นไอดอล K-Pop จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกมากแค่ไหน? ค่ายเพลงจะพัฒนาโมเดลการฝึกฝนและเดบิวต์ไอดอลอย่างไรให้เหมาะกับตลาดที่เปลี่ยนไป? และ K-Pop จะยังคงเป็น “Korean Pop” หรือกำลังกลายเป็น “Global Pop” อย่างแท้จริง?