เคยสงสัยกันไหม ทำไมช่วงนี้คอนเสิร์ตเกาหลีที่ประกาศออกมากี่งาน ต่อกี่งานมันถึงแพ๊งแพงขึ้นมากจนรู้สึกหนักอกหนักใจ เกรงใจเงินในกระเป๋าตัวเอง
หลังจากปิดประเทศ งดบิน งดจัดงานกันมาเกือบ 2 ปีเต็ม ตอนนี้งานคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้งของศิลปินเกาหลี ก็ประกาศหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยรัว ๆ จนถูกแฟนๆ บนโซเชียลมีเดียแซวกันว่าเป็นปีที่พระโคเลือกกินบัตรคอนเสิร์ต จนทำให้งานคอนเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้นขนาดนี้ และที่ทำให้จิตใจสั่นสะเทือนยิ่งขึ้นก็คือเรื่องของราคาบัตรที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกจากที่บัตรคอนรวมอย่าง KCON ในปี 2019 ที่เคยแพงสุดต่อ 1 วันคือราคา 6,000 บาท ในปีนี้เราก็ได้เห็นราคาบัตรคอนรวมที่แพงขึ้นไปยิ่งกว่าเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกอย่างมันก็เหมือนจะมีเหตุและผลจากปัจจัยต่างๆ เป็นส่วนประกอบให้ราคาบัตรคอนเสิร์ตแพงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่
วันนี้เรามาลองดูจุดที่จะพอสะท้อนออกมาให้เห็นกลไกของราคากันสักนิดว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้างที่กระทบต่อราคาบัตรคอนเสิร์ตเกาหลีในปัจจุบัน และอนาคตต่อจากนี้ .. ขอบอกก่อนว่าเพียงแค่ส่วนนึงเท่านั้นนะ .. ตามลงมาดูกัน
ความฮาแบบ BABYMONSTER! วัดสกิลวาไรตี้กับ Knowing Brothes ดูได้ที่ Viu ▶ คลิก
การปรับตัวของค่าแรงขั้นต่ำประเทศเกาหลี
ในปีนี้ 2022 เกาหลีใต้มีค่าแรงขึ้นต่ำอยู่ที่ 9,160 วอน/ชั่วโมง เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 5.1% จากปีก่อน เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2019 ช่วงก่อนโควิดก็จะเห็นว่าปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 10% เลยทีเดียว
และล่าสุดเพิ่งมีประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจากของเดิมไปอีก 5% ขึ้นมาอยู่ที่ 9,620 วอน มีผลในปี 2023 (จะสูงไปไหนกันน้าาา) เมื่อค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลีเพิ่มขึ้นต้นทุนในเรื่องของแรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศิลปิน และการทำงานด้านโปรดัคชันต่างๆ แน่นอนว่าก็จะต้องปรับสูงขึ้นตามมาด้วย
ต้นทุนการจัดคอนเสิร์ตที่แพงขึ้น
พิสูจน์จากอัตราเงินเฟ้อ
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนนับว่าอยู่ในจุดที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี ส่วนหนึ่งผลมาจากเหตุการณ์โควิด-19 รวมถึงอีกหนึ่งปัจจัยตัวเร่งอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะเห็นว่าราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิงแรงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ และถ้าเงินเฟ้อสูงมากเกินไปจนเกิดสภาวะ Hyper Inflation ที่ทำให้วัตถุดิบแพง กำลังการผลิตแพง ข้าวของแพง คนซื้อของได้น้อยลง กิจการขายได้น้อยลง ลดขนาดกิจการแบบที่เราเผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน ของทุกอย่างปรับตัวแพงขึ้น ค่าเช่าสถานที่ เครื่องเสียง อุปกรณ์เวที ไฟต่างๆ ก็แพงขึ้นไปอีก และถ้าหลังจากนี้ไป หากค่าเงินบาทยังคงอ่อนตัวลง และอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้น เราคงจะได้เห็นราคาบัตรคอนเสิร์ตที่แพงขึ้นยิ่งกว่าอีกแน่นอนนี้
ราคาบัตรที่ปรับตัวขึ้น
แบบไม่สัมพันธ์กับรายได้
พ่วงมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ข้าวของแพง รวมถึงบัตรคอนเสิร์ตเอง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยแล้ว ดูยังไงก็ไม่สอดคล้องกัน ต่อให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นก็อาจจะแค่เพียง 4-5% ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าบัตรคอนเสิร์ตที่สูงขึ้น 20-30 % เทียบกับราคาบัตรคอนเสิร์ตช่วงก่อนโควิด-19 ยังไงก็ไม่พอค่ะ
ความนิยมของศิลปินเกาหลีในตลาดฝั่งเอเชีย
เมื่อเทียบกับตลาดฝั่งตะวันตก
อย่างที่รู้กันดีว่าเกาหลี ตีตลาดเอเชียมาตั้งแต่สมัย K-POP เจน 2 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว จนทุกวันนี้เรียกได้ว่ากระแสความนิยมเกาหลีในโซนเอเชียติดตลาดกันหมด แน่นอนว่าต้นสังกัดมองเห็นถึงโอกาส ความต้องการของแฟนคลับ ที่มีเดมานด์สูงซึ่งมีส่วนที่ทำให้ราคาค่าตัวศิลปินที่ตั้งจากต้นสังกัดสูงกว่าในโซนอื่นๆ ไหนจะต้องมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ที่ตัวผู้จัดเองก็ต้องคำนึงถึง ทำให้ราคาบัตรที่เคาะออกมามีราคาที่สูง และเมื่อเทียบกับทางตะวันตกที่ถึงแม้ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการจัดการต่างๆ จะสูงกว่าแล้วก็ยังมีราคาบัตรที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลยทั้งที่ในความรู้สึกของคนประเทศห่างจากเกาหลี 5 ชั่วโมงอย่างเราๆ คิดว่ายังไงการเดินทางและการจัดการก็น่าจะถูกกว่าแท้ๆ ทำให้พอจะอนุมานได้ว่าน่าจะเป็นเรื่องของราคาค่าลิขสิทธิ์ในการจัดคอนเสิร์ตที่แตกต่างกัน อาจจะด้วยเหตุผลของเรื่องการตลาด และการเปิดตลาดใหม่ๆ สร้างโอกาสให้กับการทำกิจกรรมของศิลปินในต่างประเทศ ด้วยแรงจูงใจจากความสำเร็จของ BTS ที่ทำให้ชื่อเสียงของวงการ K-POP ดูน่าดึงดูดในตลาดระดับโกลบอลมากยิ่งขึ้น ก็เป็นได้
ยกตัวอย่างจากราคาบัตรคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ของ Seventeen ที่เปิดเผยออกมาแล้วไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมไปถึงเพื่อนบ้านรอบข้างชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ราคาสูงขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับโซนตะวันตกอย่างอเมริกา ที่มีราคาค่าบัตรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 180$ (ประมาณ 6,418.80 บาท เรทจากวันที่ 4 ก.ค.) แม้ราคาบัตรจะดูไม่ต่างกันมาก แต่พอเทียบค่าครองชีพของบ้านเราแล้ว ความรู้สึกไม่เท่ากันเลยสักนิ๊ดดดดด (ปล. แต่ถ้านับราคาบัตรที่เอามารีเซลกันก็ราคาโหดเหยียบหลักหมื่นกันทั้งนั้นเลยนะคะ)
จากนี้เราคงต้องคอยดูกันต่อไปว่าการจัดคอนเสิร์ต หรืองานกิจกรรมของศิลปินจากวงการ K-POP จะพาราคาบัตรขึ้นไปสูงถึงระดับไหนในอนาคตอันใกล้นี้
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก :
- ค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลีใต้ | thaikuk.com
- เงินเฟ้อ คืออะไร? | moneybuffalo.in.th
- ไทยเตรียมรับมือเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 24 ปี กระทบของแพง-ค่าแรงขึ้น | workpointtoday.com
- SEVENTEEN WORLD TOUR [BE THE SUN] – HOUSTON | toyotacenter.com