fbpx
News

คุยลึก: เบื้องหลังนิทานของ โกมุนยอง และนักวาดภาพประกอบใน It’s Okay to Not Be Okay

จากนิทานเด็กของ โกมุนยอง มาจนถึงคลาสเรียนวรรณกรรมในซีรีส์ It’s Okay to not be Okay ได้เปิดมุมมองใหม่ๆให้กับนิทานสำหรับเด็กกับแง่คิดอีกด้านที่ทำให้โลกของนิทานกลายเป็นความมืดมนในแบบที่เด็กๆ คงจะต้องร้องไห้เมื่อได้ฟัง

โกมุนยอง “นิทานคือโลกแฟนตาซีที่แสนโหดร้าย ที่วาดให้ขัดกับความป่าเถื่อนรุนแรงของโลกความเป็นจริง” 

Image

aespa เจอมิชชันกลางแจ้ง! วัดสกิลวาไรตี้กับ Knowing Brothes ดูได้ที่ Viu ▶ คลิก

วันนี้เราได้รับข้อมูลนิทานของ โกมุนยอง ที่ปรากฏในซีรีส์ 3 เล่ม ได้แก่ เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย, เด็กน้อยซอมบี้ และ เจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ ที่มีวางขายจริงในประเทศเกาหลีแล้ว ซึ่งแต่ละเรื่องมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังรู้สึกสะเทือนใจที่ได้อ่านนิทานเหล่านี้ที่สะท้อนภาพของชีวิตออกมา

เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย

Image

หนังสือนิทานเล่มแรกที่ปรากฏในซีรีส์ เล่าถึงเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่กลัวการฝันร้าย จนต้องไปร้องขอให้แม่มดช่วยลบความทรงจำเลวร้าย เมื่อเด็กชายเติบโตขึ้นเขาก็ไม่ฝันร้ายอีกเลย แต่ความสุขของเขาก็หายไปด้วย จนวันที่แม่มดปรากฏตัวเพื่อเอาวิญญาณเขาไปเป็นการแลกเปลี่ยน ชายหนุ่มร้องถามว่าทำไมเขาถึงไม่มีความสุขแบบนี้ แม่มดตอบเขาว่า คนที่เก็บความทรงจำอันเลวร้ายทุกข์ทรมานเหล่านี้ไว้ในใจ และยังมีชีวิตต่อไปต่างหากที่จะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีความสุขได้ “แต่ถ้าเธอผ่านมันไปไม่ได้ ก็ยังคงเป็นแค่เด็กน้อยที่ไม่รู้จักเติบโต”

Image

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ชีวิตคนเราต่างมีทั้งทุกข์และสุขที่ต้องเผชิญ และทั้งความทรงจำที่งดงามและเลวร้าย ต่างเป็นสิ่งที่เราต้องผ่านพบและมันจะช่วยขัดเกลาให้เราเป็นเรา ความสุขในใจจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และเติบโตไปพร้อมกับมัน

เด็กน้อยซอมบี้

Image

นิทานที่เล่าถึงเด็กชายคนหนึ่งที่เกิดมาแตกต่างจากคนอื่น ความหิวโหยที่มีตลอดเวลา ทำให้แม่ต้องขังเขาเอาไว้ในห้องใต้ดิน แต่ละวันต้องคอยหาอาหารมาให้ จนเมื่อไม่มีอะไรจะให้ลูกชายกินแล้ว แม่ก็ยอมยกแขนขาให้เขากินเป็นอาหาร จนเมื่อเหลือแต่ตัว แม่ก็กอดเด็กชายไว้เป็นครั้งสุดท้าย และยอมให้เขากิน เด็กน้อยซอมบี้ได้พูดขึ้นเป็นครั้งแรกว่า “แม่ช่างอบอุ่น” ซึ่งสะท้อนความหมายแฝงที่ว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เด็กน้อยต้องการคืออาหาร หรือความรักความอบอุ่นจากแม่กันแน่

เจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ

Image

นิทานที่ลายเส้นสดใสที่สุดของ โกมุนยอง ในขณะนี้ เรื่องเล่าของเจ้าหมาตัวหนึ่งที่ถูกผูกไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ตอนกลางวันมันจะกระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข แต่ตอนกลางคืนจะนอนร้องครางหงิงๆ ด้วยความเศร้า ที่จริงมันควรจะปลดเชือกที่ผูกเอาไว้ แล้วออกไปวิ่งเล่นในทุ่งกว้างๆ แต่มันก็ได้แต่มีชีวิตอยู่ใต้ต้นไม้อย่างนั้น
นิทานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความเศร้าที่ซุกซ่อนอยู่ภายในของคนทุกคน และวิธีแก้ปัญหาจริงๆ แล้วอาจง่ายมาก เพียงแต่ว่า หากเราถูกผูกติดกับปัญหานานจนเกินไป เราอาจหลงลืมว่าจะหลุดออกไปได้อย่างไร อย่างเช่นที่โกมุนยองพูดว่า “ฉันโดนผูกมานานมากแล้ว นานจนลืมไปแล้วว่าจะปลดเชือกออกได้อย่างไร”

Image

และผู้อยู่เบื้องหลังงานภาพประกอบในนิทานเหล่านี้ก็คือ Jamsan นักวาดภาพประกอบผู้มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเค้าได้ให้สัมภาษณ์กับ Netflix เกี่ยวกับการทำงานของเขาครั้งนี้ว่า

“ปีที่แล้วผมได้ทำงานกับผู้กำกับพัคชินอูผ่านเรื่อง Encounter ตอนนั้นผมได้ทำงานย่อเรื่องสั้นละครผ่านบทนำและบทส่งท้าย พอมาถึงซีรีส์ It’s Okay to not be Okay พอผมได้อ่านเรื่องย่อของ เด็กน้อยซอมบี้ กับเด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย ถึงจะเป็นเทพนิยาย แต่ผมรู้สึกว่าไม่เหมาะสำหรับเด็กแต่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ ผมจึงมุ่งเน้นไปที่การถ่ายทอดผลงานให้สื่อสารกับกลุ่มผู้ใหญ่ได้ โดยส่วนตัวแล้วผมอยากลองทำงานภาพในโทนสีที่ดูน่ากลัวหรือภาพของซอมบี้อะไรแบบนี้อยู่แล้ว

ทุกวันนี้ผมสนใจในเทพนิยายที่โหดร้าย แฟนตาซีและเรื่องที่ไม่สมจริงมากครับ แต่ในทางหนึ่งเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่แฟนตาซีแต่เราสามารถพบเจอเรื่องราวเหล่านี้ได้ในความเป็นจริง บางครั้งความเป็นจริงก็เกินกว่าที่เราจะจินตนาการไปถึงได้ บางครั้งมีความจริงที่น่าเศร้าใจมากมาย สิ่งเหล่านี้ก็สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดแฟนตาซีได้ ตอนนี้ผมเริ่มสนใจงานในรูปแบบนี้มากขึ้น”

Image

อย่างหนึ่งที่นิทานโกมุนยองทั้ง 3 เล่มบอกเอาไว้ และตรงกับความคิดของ Jamsan ผู้วาดภาพประกอบ คือการยอมรับความจริงที่แม้ว่ามันจะโหดร้ายเอาไว้ แล้วเปลี่ยนให้มันเป็นพลังที่ทำให้เราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะท้ายที่สุด มันไม่มีหรอกที่ใครจะเติบโตมาอย่างเจ้าหญิงหรือเจ้าชายในนิทานที่ไม่เคยมีเรื่องทุกข์ร้อนหมองเศร้า อย่างที่โกมุนยองพูดเอาไว้ในคลาสว่า “นิทานไม่ใช่ยากดประสาทที่ช่วยมอบความหวังและความฝัน แต่เป็นยากระตุ้นให้เผชิญความจริง”

Image

ฮอตซีรีส์
อ่านต่อ

Eddie Sophon

ผู้ก่อตั้งร่วมของ Hallyu K Star, โฮสต์พอดแคสต์ 'ดูซีรีส์ให้ซีเรียส' ผู้สนใจในวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลี ทั้งเพลง-ซีรีส์-ภาพยนตร์ เลยเถิดไปถึงเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และอาหารการกิน

บทความเกี่ยวข้อง

Back to top button