talk. คุยเรื่อง 5 ซีรีส์ที่เข้าชิง ‘Best Drama’ งาน Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 57
ก่อนจะถึงงานประกาศรางวัล Baeksang Arts Awards หนึ่งในเวทีรางวัลวงการบันเทิงประเทศเกาหลี ที่เป็นที่ยอมรับถึงความน่าเชื่อถือของการตัดสินผลงานคุณภาพ ครั้งที่ 57 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ทางผู้จัดการก็ได้ทำการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงในสาขาต่างๆ ทั้งส่วนของภาพยนต์ และโทรทัศน์ ออกมาล่วงหน้า ให้บรรดาผู้ชมได้ร่วมเก็งกันว่าใครจะได้รับรางวัลกันบ้าง
วันนี้ เราเลยจะมาพูดถึงแต่ละเรื่องแบบสั้นๆ กับจุดเด่น และความน่าสนใจของซีรีส์ ทั้ง 5 เรื่อง ที่ได้เขาชิงในสาขา Best Drama ซึ่งเป็นอีกสาขาที่รวมเอาผลงานระดับคุณภาพมาวัดกัน
author ToiTing | KR SERIES LOVER |
It’s Okay to Not Be Okay
사이코지만 괜찮아
ความฮาแบบ BABYMONSTER! วัดสกิลวาไรตี้กับ Knowing Brothes ดูได้ที่ Viu ▶ คลิก
หนึ่งซีรีส์ที่เป็นที่นิยมอย่างท่วมท้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ดูกันทั้งบ้านทั้งเมือง และมีบทวิเคราะห์ถึงเรื่องราวทางจิตวิทยา ที่ได้รับความสนใจจากเพจจิตวิทยาหลายเพจ เพราะซีรีส์เรื่องนี เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของหญิงสาว นักเขียนหนังสือนิทานสำหรับเด็กผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่มักสร้างความเดือดร้อน เพราะเธอมีนิสัยไม่เป็นมิตรกับคนรอบตัว เนื่องจาก เรื่องราวในวัยเด็กของเธอ วันหนึ่งเธอได้รู้จักกับบุรุษพยาบาลในสถานบำบัดดูแลผู้ป่วยทางจิต และทั้งสองก็เข้ามาเติมเต็ม และเติบโตไปด้วยกัน
นอกจากความนิยมอย่างกว้างขวาง ใจความหลักของเรื่องที่พูดถึง ความเจ็บป่วย และการเยียวยากันของตัวละครหลัก ก็ทำให้เรื่องมีความอบอุ่น อ่อนโยน ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีปมลึกลับ ที่ค่อยๆเผยทีละน้อยอย่างน่าสนใจ นอกจากนี้เรื่องราวก็ไม่ได้วนเวียนอยู่เพียงความสัมพันธ์ของพระ-นางเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ที่นำเสนอโดยคิมซูฮยอน และโอจองเซ (เข้าชิงในสาขานักแสดงนำชาย และนักแสดงสมทบชายด้วย) ที่ถ่ายทอดออกมาอย่างซาบซึ้งกินใจ
แง่มุมทางจิตวิทยาที่ถูกหยิบยกมาเล่า มีการเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวละครกับนิทานที่ถูกนำเสนอผ่านภาพอนิเมชันที่สวยงาม ให้แง่คิด และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวในชีวิตของคนทั่วไป ทำให้คนดูเชื่อมโยงกับตัวเอง และอินไปกับเนื้อเรื่องได้ไม่ยาก ซึ่งนอกจากอิน เรื่องนี้ก็ฟินในระดับหวานน้ำตาลขึ้น เรียกว่าครบรสทั้ง สาระ และ ความบันเทิง
Flower of Evil
악의 꽃
งานเข้าชิงเรื่องนี้ จัดว่าหนักพอสมควร (แต่ยังไม่หนักที่สุดในบรรดาเรื่องที่เข้าชิง) แต่ก็ไม่ได้มีแต่เรื่องดาร์กๆ เพราะยังมีเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ ของสามีภรรยา ครอบครัว พ่อแม่ลูก และพี่น้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อวันหนึ่งภรรยาเริ่มไม่แน่ใจว่าสามีของเธอ เป็นฆาตกรหรือไม่ และเขาที่เธอรู้จัก คือตัวตนที่แท้จริงหรือเปล่า
บทของเรื่องนี้มีความซับซ้อนพอประมาณ เพิ่มความหวานปนขมกับความรักที่เจือความสงสัย ของสามีภรรยาที่รักกันอย่างมาก แต่กลับมีเรื่องปิดบัง การเล่าเรื่องด้วยจังหวะที่พอดี ไม่ยืด และการทิ้งปมชวนเข้าใจผิด และค้างคา ในแต่ละตอน ก็ยิ่งทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ น่าติดตาม ในระดับที่การรอคอยเพียง 6 วันอาจทำให้คนดูลงแดงได้
จุดเด่นของเรื่องนี้ คงเป็นการที่ ถึงเนื้อเรื่องส่วนการสืบสวนจะเข้มข้น และลุ้นระทึกในหลายช่วง แต่ส่วนของความสัมพันธ์ก็ทำออกมาได้อย่างดี เป็นส่วนผสมที่กลมกลืน ไม่หวานเกินไปสำหรับสายสืบสวน แต่ก็ไม่หนักเกินไป สำหรับคนที่ไม่ได้ชอบแนวสืบสวนนัก
note: ผู้กำกับคิมชอลคยู ที่กำกับ Flower of Evil เคยกำกับเรื่อง Mother เจ้าของรางวัล Best Drama จากเวที Baeksang ในปี 2018
Beyond Evil
괴물
เพิ่มระดับความโหดขึ้นมาอีกสักหน่อย กับซีรีส์ที่เข้มข้นและกดดันทางอารมณ์แบบหนักๆ ด้วยเรื่องราวของ 2 ตำรวจที่ร่วมกันสืบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในเมืองเล็กๆห่างไกล แม้เรื่องฆาตกรรมต่อเนื่องจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการซีรีส์เกาหลี แต่เรื่องนี้โดดเด่นที่การเล่นกับอารมณ์ตัวละครและคนดู โดยกระจายความน่าสงสัยไปยังตัวละครในเรื่องแทบทุกตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งพระเอก ความสงสัยถูกทำให้เข้มข้น ผ่านการแสดงที่เต็มไปด้วยอารมณ์ของสองนักแสดงนำต่างวัย ที่แข่งกันเค้นเอาอารมณ์ โกรธ ผิดหวัง เจ็บปวด เสียใจ คับแค้น ออกมาแบบสุดตัว ดูไปก็ขนลุก กับการใส่กันแบบไม่ยั้งของนักแสดง
ภาพการนำเสนอเรื่องราวในเมืองที่ไม่พลุ่กพล่าน ให้อารมณ์ดิบๆ ผ่านภาพที่ออกมาหม่น ทึม หนัก ตามอารมณ์ของเรื่อง ความน่าสงสัยที่ค่อยๆคลี่คลาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เหมือนจะผูกมัดตัวละครมากขึ้นแบบไม่จบสิ้น ชวนให้เราต้องกลั้นหายใจกับหลายฉากที่เต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง
สิ่งที่โดดเด่นของเรื่องนี้คงไม่พ้นความสุดยอดทางการแสดงของนักแสดงนำ โทนเรื่องที่ชัดเจน และทำออกมาได้สุด ทั้งความโหดของการฆาตกรรม หรือความรู้สึกในเชิงจิตใจและความเป็นมนุษย์
Extracurricular
인간수업
ตัวแทนผู้เข้าชิงจากแพลตฟอร์มที่รับชมกันได้ทั่วโลกอย่าง Netflix ที่แม้จะไม่ได้ลงฉายทางโทรทัศน์ แต่ก็เป็นที่พูดถึง และคุณภาพคับแก้ว จนได้รับการเสนอให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิง นำเสนอเรื่่องราวชีวิตวัยมัธยม เมื่อเด็กต้องละทิ้งความสดใสในช่วงวัยอันงดงาม ใช้ชีวิตในโลก 2 ใบ หาเงินด้วยวิธีนอกกฎหมาย จนนำไปสู่อันตรายที่เสี่ยงถึงชีวิต
นักแสดงนำของซีรีส์เรื่องนี้ เป็นนักแสดงดาวรุ่งรุ่นใหม่ ที่บางคนก็มีงานแสดงเรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นแรกๆในวงการ แต่ก็ถือว่าได้คัดเลือกมาอย่างดี เพราะทุกคนแสดงได้ดีมากๆ เมื่อร่วมแสดงกับนักแสดงรุ่นใหญ่ที่มาร่วมรับบทสมทบ ก็ทำให้เรื่องราวเข้มข้น และดาร์กได้ใจ ในระดับที่ ถ้าลงจอแก้วอาจไม่พ้นเรท 19+ ทั้งความเลือดสาด และเปิดโปงเรื่องราวด้านมืดของสังคม
นอกจากจุดเด่นที่ใช้นักแสดงรุ่นเล็ก อีกหนึ่งความน่าสนใจ คือการตีแผ่แง่มุมที่ไม่สวยงามของวัยรุ่น ระบบ และสังคม ที่ส่งผลให้เด็กต้องตกอยู่ในอันตราย ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ความทุกข์ ความต้องการ และธรรมชาติของวัยรุ่น วัยว้าวุ่นที่อาจยังด้อยประสบการณ์ในการตัดสินใจ ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวที่ดูวุ่นวาย และใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่ตอนจบที่ชวนให้ขบคิดต่อ
My Unfamiliar Family
(아는 건 별로 없지만) 가족입니다
” คนในครอบครัวที่ห่างเหิน “ คือจุดเริ่มต้นของซีรีส์เรื่องนี้ เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แสนสงบ มีอันสั่นคลอน เมื่อพ่อแม่ที่แต่งงานกันมานานจนลูกๆอยู่ในวัยทำงาน ตัดสินใจจะจบความสัมพันธ์ สิ่งค้างคาในใจที่สะสม พาพวกเขาเดินมาถึงทางตัน แต่เรื่องราวกลับพลิกผัน เมื่ออยู่ๆ คนเป็นพ่อ ก็เกิดอาการความจำเสื่อม และย้อนไปสู่วันวานที่ยังเป็นคู่รักหนุ่มสาว ที่กำลังเริ่มก่อร่างสร้างครอบครัวมาด้วยกัน
การนำเสนอเรื่องราวของผู้สูงอายุ ที่เริ่มเห็นมากขึ้นในวงการบันเทิงเกาหลี ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวของคู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันมานาน ในสังคมที่ผู้หญิงต้องกล้ำกลืนกับหลายสิ่ง และสะสมความไม่พอใจ หรือความสงสัยเอาไว้ภายใน การแสดงออกที่ต่างกันของชายและหญิง นำไปสู่เรื่องราวเข้าใจผิด ที่ทางแก้อาจไม่ซับซ้อนไปกว่าการหันหน้าเข้าหากัน
ชีวิตของลูกทั้ง 3 คนในเรื่อง ก็เป็นเหมือนตัวแทนคนอีกรุ่นหนึ่งของสังคม เล่าให้เห็นความคาดหวังของสังคม และสิ่งที่กดดันชีวิตของคนหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็น การแต่งงานและความคาดหวังหลังจากนั้นอย่างการมีลูก ความสัมพันธ์ในแง่มุมของความรักหนุ่มสาว หรือชีวิตการทำงานและการตามหาความฝัน
บทลงรายละเอียดเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว คู่สามีภรรยา พี่น้อง คนรัก และเพื่อน ออกมาอย่างครบถ้วน ผ่านกลุ่มนักแสดงที่แสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีความเจ็บปวดของคนธรรมดา และความสุขที่แสนสามัญ แทรกเรื่องราวประเด็นทางสังคมทั่วๆไป ไปจนถึงเรื่องราวที่ยังใหม่ในสังคมเกาหลี อย่าง LGBT
แม้ซีรีส์เรื่องนี้ อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในกลุ่มแฟนชาวไทย แต่ก็มองข้ามไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นแนวดราม่าความสัมพันธ์แบบหน่วงๆ ที่ถือเป็นความนิยมของเวที Baeksang และเรื่องแนวนี้ก็คว้ารางวัล Best Drama มาหลายครั้งในช่วงปีก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็น Dear My Friends จากปี 2017 (ชีวิตกลุ่มเพื่อนสูงวัย) Mother จากปี 2018 (ความเป็นแม่ในแง่มุมต่างๆ) My Mister จากปี 2019 (ชีวิตเศร้าของวัยกลางคน) จนดูเหมือนว่าแนวดราม่าที่เรียกน้ำตาจากคนดู จะเป็นแนวที่กรรมการเวทีนี้ อาจเห็นว่าเหมาะแก่การเป็น Best Drama
แต่ยังไงแล้ว ตอนนี้คงยังเป็นการยากที่จะฟันธงว่า คณะกรรมการจะตัดสินใจเลือกให้เรื่องไหนได้รับรางวัล เพราะแต่ละเรื่องก็ล้วนเป็นผลงานคุณภาพ ที่ควรค่าต่อรางวัลทั้งสิ้น ใครที่ยังไม่ได้ดูเรื่องไหน ก็แนะนำว่า ตามไปเก็บกันได้ ก่อนที่จะถึงวันงาน เผื่อว่าจะมาร่วมเดาใจกรรมการด้วยกัน