fbpx
BlogNews

โลกไอดอล: 7 เส้นทางวงการไอดอล K-POP ที่ถูกสะท้อนผ่านซีรีส์ IDOL: The Coup

IDOL: The Coup ซีรีส์ที่เล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังของ ‘วงไอดอลที่ล้มเหลว’ ที่ไม่เพียงแค่นำเสนอเรื่องราวแค่ในมุมมองของวงไอดอลที่ล้มเหลวเท่านั้น แต่ยังเล่าถึงด้านต่างๆ ของชีวิตการเป็นไอดอลอีกด้วย การเดบิวต์ที่ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ กับอุปสรรคและทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ ความฝันของการเป็นไอดอลจึงไม่ได้สิ้นสุดแค่การเดบิวต์ แต่การเดบิวต์นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดิ้นรนบนเส้นทางที่จะอยู่รอดได้ด้วยชื่อเสียงและความนิยม

อุตสาหกรรม K-POP ที่ได้รับความนิยมจนถูกเรียกว่าเรียกว่า Korean Wave หรือ ฮันรยู (Hallyu) ในปัจจุบันได้เกิดขึ้นทั้งในระดับทวีปและระดับโกลบอล ซึ่งมีการพัฒนามากขึ้นจนกลายเป็น Soft Power ที่แข็งแกร่งของเกาหลี และสามารถทำรายได้ให้กับประเทศเกาหลีมากกว่า 5 พันล้านเหรียญ ซึ่งนับว่าอุตสาหกรรม K-POP มีความสำคัญในด้านวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ของเกาหลีเลยทีเดียว โดยฟันเฟืองที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญก็คือเหล่าไอดอลศิลปินที่เดบิวต์ในแต่ละปีมากกว่า 100 คน

ซึ่งในเส้นทางการเดบิวต์ของเหล่าไอดอลนั้นแน่นอนว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ยังมีอุปสรรคมากมายที่ไอดอลต้องเผชิญ ในภาพของการยอมรับในระดับนานาชาติจากความสำเร็จของหลายๆ วง แต่ก็ยังมีวงไอดอลอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเฝ้ารอโอกาสและการเป็นที่รู้จักให้มากยิ่งขึ้น วันนี้เราจะมาย้อนมองกันถึงเบื้องหลังวงของการ K-POP ในด้านต่างๆ ที่ถูกสะท้อนออกมาในซีรีส์เรื่อง IDOL: The Coup

ความฮาแบบ BABYMONSTER! วัดสกิลวาไรตี้กับ Knowing Brothes ดูได้ที่ Viu ▶ คลิก

เส้นทางความนิยม ‘เก่าไปใหม่มา’

Image

ในระยะเวลา 1 ปี มีไอดอลเดบิวต์เริ่มต้นการทำกิจกรรมกันอยู่ตลอดทั่งปี รวมถึงเทรนด์ของการค้นหาสมาชิกวงไอดอลกรุปผ่านรายการเซอร์ไววัลที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ด้วยความจำกัดของตลาด และปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบรวมกันเป็นเดมานด์ของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้มีวงที่สามารถทำกิจกรรมได้ในระยะเวลายาวนานมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปชื่อเสียงความนิยมของวงไอดอลที่เดบิวต์ก่อนก็จะถูกแทนที่ด้วยกระแสความสนใจที่มอบให้กับเหล่ารุกกี้หน้าใหม่ไฟแรงที่นำเสนอภาพใหม่ๆ เพลงใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป จนอาจทำให้ความนิยมของวงรุ่นพี่หายไปและกลายเป็นเพียงชื่อวงที่เคยถูกพูดถึงในวงการ K-POP เท่านั้น ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพของไอดอลที่อยู่ในค่ายเดียวกัน แต่ความนิยมกับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และกลายเป็นคอนทราสต์ของเรื่องนี้ที่ทำให้เราได้สัมผัสความรู้สึกของวงไอดอลรุ่นพี่ที่มองเห็นศิลปินรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมามีชื่อเสียงมากกว่าได้รับความนิยมมากกว่า

Image

ความกดดันในวงการ K-POP

ในวงการ K-POP มีการแข่งขันอยู่เสมอ ทำให้เหล่าไอดอลจึงต้องใช้ความพยายามและผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากเพื่อประสบความสำเร็จสู่การเป็นไอดอลระดับแนวหน้าของวงการ K-POP  และแน่นอนว่าเมื่อได้เดบิวต์แล้ว ไอดอลต้องเผชิญกับความกดดันมากมาย โดยเฉพาะความกดดันจากกระแสสังคมที่มีทั้งความคาดหวัง การเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะจากสื่อหรือผู้คนในสังคมออนไลน์ก็ตาม ซึ่งหากเดบิวต์เป็นไอดอลแล้วก็ถือว่ากลายเป็นบุคคลสาธารณะและมีผู้คนรู้จักมากมาย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกจับตามองอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าโลกมักจะมีสองด้านเสมอนอกจากจะได้รับคำชื่นชมแล้ว อีกด้านก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตการเป็นไอดอลได้ โดยในปัจจุบันมีไอดอลหลายคนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ บางครั้งก็ส่งผลกระทบไปถึงจิตใจที่ทำให้เหล่าไอดอลต้องพักจากกิจกรรมไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งกันเลยทีเดียว

Image

Image

ความฝันของการเป็นไอดอล
ที่กลายเป็นการแข่งขันของธุรกิจ

เมื่ออยู่ในวงการ K-POP แล้ว การพบเจอกันหรือทำงานร่วมกันเป็นเรื่องธรรมดาที่ไอดอลต้องพบเจอ บางคนก็มีการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันเพื่อการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น และในปัจจุบันมีไอดอลจำนวนมากที่รู้จักกันหรือเป็นเพื่อนต่างวงก็จะมีการสนับสนุนซึ่งกันและกันออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น การสนับสนุนผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือการส่ง Food Support เพื่อเป็นกำลังใจในผลงานต่างๆ ของอีกฝ่าย แต่เมื่อขึ้นรายการเพลงหรือชาร์ตแล้วทุกคนย่อมมีเป้าหมายคือการคว้าอันดับ 1 ให้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของเกียรติประวัติเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อเรื่องชื่อเสียง และเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่จะช่วยให้เส้นทางของการทำกิจกรรมวงมั่นคงยิ่งขึ้น 

Image

สัญญาของค่ายเพลง

ระยะเวลาในสัญญาของศิลปินแต่ละค่ายก็จะแตกต่างกันออกไปโดยส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญาในระยะเวลาประมาณ 7 ปี ต้นสังกัด หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ค่าย นับเป็นกำลังที่สำคัญของเหล่าไอดอล หากจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากค่าย พร้อมกับความสามารถของเหล่าไอดอลด้วย ซึ่งถ้ามองในแง่มุมของแฟนคลับและตัวศิลปินเอง หากค่ายจัดการระบบไม่ดี หรือไม่ดูแลกิจกรรมของศิลปินอย่างต่อเนื่อง กระแสความนิยม หรือการพูดถึงก็จะค่อยๆ ลดลง จนหายไปในที่สุด ในขณะที่แฟนๆ มองว่าศิลปินเองยังก้าวต่อไปได้อีกไกล แต่ถ้าหากมองในมุมมองของธุรกิจค่ายเพลงแล้ว ความต่อเนื่องของการดูแลกิจกรรมของศิลปินก็อาจขึ้นอยู่กับกระแสตอบรับจากภายนอก ที่ค่ายต้องประเมินความเสี่ยงว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนไหม ซึ่งในซีรีส์ได้สะท้อนแง่มุมหนึ่งของค่าย ที่ศิลปินเป็นเพียงแค่แบรนด์สินค้าที่ผลิตผลงานเพลงขึ้นมาเพื่อสร้างยอดขาย และถ้าหากผลออกมาไม่คุ้มกับการลงทุน หรือมีแนวโน้มในอนาคตถึงการเสื่อมความนิยมก็อาจจะเป็นได้ที่ต้องชะลอหรือพักการทำกิจกรรมไป โดยเฉพาะในกลุ่มของบริษัทที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เปิดขายหุ้นต่อสาธารณะ เรื่องของผลกำไรจึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นให้ความสำคัญ และกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาต่อสัญญาของศิลปิน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันในวงการ K-POP ก็มีข่าวคราวของการยุบวง การยกเลิกสัญญาของวงไอดอล การตัดสินใจโอนสัญญาของวงไอดอลให้กับบริษัทอื่นอยู่อย่างต่อเนื่องอ่านต่อ : โลกไอดอล : ทำไมสุดท้ายถึงต้องยุบวง

Image

เด็กฝึกจุดเริ่มต้นการเดบิวต์

เด็กฝึก หรือที่เรียกกันว่า เด็กเทรน อาจมีโอกาสได้เริ่มฝึกในค่ายตั้งแต่อายุยังน้อยและฝึกเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้เดบิวต์ โดยเฉลี่ยแล้วไอดอลจะมีระยะเวลาการเป็นเด็กฝึกประมาณ 4-7 ปี แต่วงการไอดอลในปัจจุบันได้ลดระยะเวลาในการฝึกให้สั้นลง ทำให้เด็กเทรนที่ฝึกเพียงแค่ 6-8 เดือนมีโอกาสในการเดบิวต์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีเด็กฝึกอีกจำนวนมากที่ได้เดบิวต์จากรายการเซอร์ไววัล ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นได้แสดงศักยภาพของตัวเองผ่านรายการ ทำให้คนจำนวนมากได้เห็นความสามารถและรู้จักพวกเขามากขึ้น จนกลายเป็นที่ชื่นชอบมีแฟนคลับคอยรอติดตามผลงานตั้งแต่ก่อนการเดบิวต์จะมาถึง แต่เบื้องหลังเส้นทางการเดบิวต์ พวกเขาต้องมีความอดทนและความพยายาม ฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าพวกเขาจะได้เดบิวต์หรือไม่ ซึ่งระหว่างการเป็นเด็กฝึกนั้นเองก็อาจทำให้พวกเขาได้ตัดสินใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องการทำคืออะไร และทำให้หลายๆ คนผันตัวไปทำงานเบื้องหลังอย่างการเป็นนักแต่งเพลง โวคอลเทรนเนอร์ หรือนักออกแบบท่าเต้น

Image

ความสัมพันธ์ของสมาชิกในวง

ความสัมพันธ์ของสมาชิกวงไอดอลเริ่มมาจาก ‘ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจที่เป็นเพื่อนร่วมงาน’ ภายนอกความสัมพันธ์ของวงอาจจะดูเหมือนว่าสนิทกันแต่ในความจริงอาจจะไม่ได้สนิทกัน สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ซึ่งก็มีข่าวคราวการทะเลาะกันระหว่างสมาชิกในวงให้เห็นเป็นตัวอย่างในวงการไอดอล แต่ก็ไม่ใช่ว่าความสัมพันธ์แบบเพื่อนหรือพี่น้องที่สนิทกันจริงๆจะไม่มีเลย เมื่อต้องทำงานร่วมกันเป็นเวลานานก็ค่อยๆพัฒนาความสัมพันธ์ไปในทางที่ดีได้เช่นกัน และยิ่งอายุของวงมากก็ยิ่งมีความผูกพันธ์กันมาก ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พวกเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข และก้าวผ่านความยากลำบากมามากเช่นเดียวกัน และเมื่อมีสมาชิกหลายคนก็ย่อมมีความคิดที่ต่างกัน ทำให้อาจเกิดความขัดแย้งภายในวงได้เช่นกัน ดังนั้นการเดินหน้าต่อในเส้นทางไอดอลจึงต้องอาศัยความสามัคคีและความเชื่อใจซึ่งกันและกันเป็นหลัก เพื่อให้สามารถเดินทางไปสู่เส้นชัยแห่งความสำเร็จได้

Image

ความฝันที่สองหลังเส้นทางไอดอล

เมื่อเส้นทางของการเป็นไอดอลไม่ใช่ถนนที่ทอดยาวจนสามารถเดินบนเส้นทางนี้ไปได้ตลอดชีวิต แต่กลับมีทั้งอุปสรรค ทางแยก ไปจนถึงทางตันที่บอกว่าเส้นทางนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าความฝันที่สองหลังเส้นทางของไอดอลก็อาจเป็นเส้นทางที่งดงามได้ ด้วยการเลือกเดินบนนเส้นทางที่ตัวเองวาดฝันไว้จากสิ่งที่รัก หรือความสามารถที่เป็นทักษะเฉพาะตัวของแต่ละคน 

ถึงแม้บทสรุปของวง Cotton Candy อาจจะไม่ใช้ตอนจบที่งดงามแบบฉบับความสำเร็จของวงเกิร์ลกรุปที่พลิกกลับมาโลดแล่นเป็นเบอร์ท๊อปของวงการ แต่ฉากจบของเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความงดงามของความหวัง ความฝัน และการใช้ชีวิตต่อไป

Image

อ่านต่อ

SirimonS

มีความสนใจและชื่นชอบเกี่ยวกับวงการบันเทิงเกาหลี ทั้ง K-pop และ Series มาตั้งแต่มัธยมต้น เลยอยากที่จะลองฝึกงานหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงเกาหลี

บทความเกี่ยวข้อง

Back to top button