โลกไอดอล : ทำไมต้องส่งเด็กฝึกหัดไปรายการเซอร์ไววัล ?

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารายการเซอร์ไววัลเพื่อหาสมาชิกในการเดบิวต์วงไอดอลกรุ๊ปเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จากความสำเร็จของค่ายอย่าง YG, JYP, STARSHIP ทำให้เกิดเป็นกระแสการแข่งขันของเด็กฝึกหัดและตามมาด้วย โปรเจคขนาดใหญ่อย่าง Produce 101
Produce 101 ทำให้เราได้รู้ว่าในวงการนี้ยังมีเด็กฝึกหัดอีกมากที่กำลังรอการเดบิวท์ และที่เราได้เห็นในรายการก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น
แต่ทำไมเด็กฝึกหัดถึงต้องมาร่วมแข่งในรายการเซอร์ไววัล ?
จากการนำเสนอในรายการ ทำให้เราเข้าใจว่า การมาร่วมแข่งในรายการเซอร์ไววัลคือการทำตามความฝันที่อยากเดบิวต์ในวงไอดอลกรุ๊ป ทำตามความฝันของการอยากเป็นนักร้อง หรืออะไรก็ตามที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของความฝัน ที่สร้างอารมณ์ร่วมให้คล้อยตามไปกับการแข่งขันในรายการ
🎙GYUBIN ปลื้มเมืองไทยขนาดไหน? ถึงกลับมาถ่าย MV เพลงใหม่ LIKE U 100 ที่กรุงเทพ
▶ คลิกดูสัมภาษณ์พิเศษแต่ในความเป็นจริง มันเป็นแบบนั้นเหรอ ?
คงมีหลายคนตั้งคำถามแบบนี้มาแล้วระหว่างที่ชมรายการ แต่จากบทความก่อนหน้านี้ได้มีการนิยามว่า K-Pop คือรูปแบบหนึ่งของธุรกิจบันเทิงที่มาจากการลงทุน และการกระทำใดใดก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน ไม่ว่าจะพูดให้สวยงามยังไงก็ตามสุดท้ายแล้วไม่มีใครอยากขาดทุนในธุรกิจนี้
จากการได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนค่ายเพลงขนาดเล็ก ในวงการ K-Pop ถึงประเด็นของการแข่งขันในรายการเซอร์ไววัลของเด็กฝึกหัดต่างค่ายอย่าง Produce 101 หรือ Boys 24 ก็ตาม เหตุผลหลักของการส่งเด็กฝึกหัดไปร่วมรายการคือการสร้างโอกาสในการออกอากาศทางโทรทัศน์ เพราะปัจจุบันสำหรับการโปรโมตในรายการเพลงแล้วเป็นต้นทุนที่มหาศาลมากจนกลายเป็นอุปสรรคในการแข่งขันสำหรับค่ายเล็ก
เมื่อเกิดรายการเซอร์ไววัลเช่นนี้ขึ้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่เหล่าค่ายเล็กอยากคว้าไว้ ซึ่งเป้าหมายของการเข้าร่วมไม่ใช่การเป็นผู้ชนะ แต่เป็นโอกาสในการเผยแพร่ชื่อค่าย และเปิดตัวเด็กฝึกหัดให้เป็นที่รู้จักก่อนการเดบิวท์
จากมุมมองของผู้ชมแล้ว เป้าหมายเหล่านี้ส่งผลจริง เพราะจากรายการ Produce 101 ทำให้เราได้รู้จักชื่อค่ายอีกมากมาย พร้อมกับเด็กฝึกหัดที่โดดเด่นของแต่ละค่าย
“ถ้าชนะได้เดบิวต์ก็เหมือนถูกรางวัลแจ๊คพอท แค่ไม่ตกรอบแล้วอยู่ถึงวันออกอากาศวันสุดท้ายก็คุ้มค่ามากพอแล้วกับการเข้าร่วมแข่งขัน”
ไม่ใช่แค่ค่ายเท่านั้นที่จะมองออกมาในลักษณะนี้ แต่ตัวเด็กฝึกหัดเองก็เช่นกัน แค่การเข้าร่วมแข่งขันและกลายเป็นที่รู้จัก มีแฟนๆคอยติดตามที่จะส่งผลดีต่อการโปรโมตในอนาคตก็เพียงพอแล้วสำหรับการเข้าร่วมแข่งในรายการเซอร์ไววัล
การแข่งขันในวงการ K-Pop ตอนนี้ ยากมากขึ้นกว่าในยุคก่อน สำหรับค่ายเล็กที่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้บริโภคในเกาหลีขยายตัวไม่ทันตามไอดอลกรุ๊ปหน้าใหม่ที่เดบิวท์กันปีละ กว่า 100 วง ค่ายใหญ่เองก็เริ่มให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นโปรเจค NCT ของ SM ที่เป้าหมายคือตลาดโลก ทำให้ทุกคนต้องพยายามคว้าโอกาสที่มีความเป็นไปได้
ถึงแม้รายการเซอร์ไววัลอาจลดความนิยมลงในอนาคต แต่เด็กฝึกหัดหน้าใหม่ก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่การเป็นไอดอล เป็นศิลปิน ยังเป็นความฝันของเด็กในยุคปัจจุบัน การมองหาโอกาสก็ยังคงดำเนินต่อไป และรายการเซอร์ไววัลที่เปิดโอกาสให้ค่ายเล็ก หรือเด็กฝึกหัดอิสระก็ยังเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับการคว้าโอกาสนี้ไว้